วันศุกร์ที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2557

โรงเรือนแบบง่ายๆ จากไม้ไผ่










ระหว่างการเดินทาง จากเฉินตู ไปลูโจว แวะดูงานแปลงทดลองเปรียบเทียบพันธุ์แตงกวา โดยมีการเสียบยอดพันธุ์บนต้นตอฟักทอง ซึ่งเป็นงานวิจัยในไร่เกษตรกร ของ Sichuan Academy of Agricultural Sciences (SAAS)  โดยเกษตรกรผู้ดำเนินการทดลอง มีอาชีพปลูกสตรอเบอรี และองุ่น โดยปลูกในระบบอินทรีย์ และจำหน่ายในท้องถิ่น ช่วงที่ไปนี้ เกษตรกรปลูกสตรอเบอรี และกำลังจะหมดฤดูกาลแล้ว พันธุ์ที่ปลูกมี 2 พันธุ์ เป็นพันธุ์ที่มีกลิ่นช็อคโกแลต และ กลิ่นกุหลาบ (กลิ่นคล้ายจริงๆ แต่ก็ไม่ได้หอมจัดมากนัก) เกษตรกรปลูกในโรงเรือนพลาสติก ที่โครงสร้างทำจากไม้ไผ่ทั้งหมด (ถ้าเป็นที่บ้านเรา รูปแบบต้องแตกต่าง เพราะบ้านเราเป็นเมืองร้อน) คลุมแปลงด้วยพลาสติกดำและใส  การจำหน่ายนั้นจะให้ผู้ซื้อเข้าไปเก็บผลผลิตเอง แล้วนำออกมาชั่ง จำหน่ายในราคา 15 หยวนต่อกิโลกรัม ในขณะที่ราคาสตรอเบอรีที่ตลาดสดขายราคา 12 หยวนต่อกิโลกรัม สำหรับองุ่นนั้น กำลังเตรียมต้นพันธุ์ โดยชำในแปลงชนาดใหญ่ คลุมแปลงด้วยพลาสติก อยู่กลางแจ้ง ไม่มีหลังคาพลาสติกคลุม (หรืออาจจะรื้อออกแล้ว เนื่องจากต้นพันธุ์กำลังเจริญเติบโต) และเตรียมหลุมปลูกภายใต้โรงเรือน
          ตามเส้นทางไป เมืองลูโจว เกษตรกรจะปลูกองุ่น เป็นส่วนมาก และปลูกชิด บางแห่งจะปลูกแบบร่องสวน ทำค้างด้วยไม้ไผ่ มองดูนึกว่าปลูกแตงกวา เพราะปลูกชิดมาก

พลูคาวใช่มีแต่บ้านเรา

 การขายพลูคาวที่ตลาดสดในประเทศจีน

 ส่วนของก้านใบ และ ลำต้น มัดขายเพื่อใช้ประกอบอาหาร

ทำเป็นอาหารคล้ายยำ ใส่พริกรสจัด และถั่วปากอ้าสดลวก กินที่ เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน

ใบพลูคาวที่กำลังเปลี่ยนสีในช่วงหน้าหนาว ที่เจจู เกาหลีใต้

พลูคาว
ช่วงปี 2554 ได้มีโอกาสไปดูงานที่ประเทศจีน2 ครั้ง ได้กินอาหารที่ใช้ใบ และส่วนลำต้นของพลูคาว มายำรวมกับถั่วปากอ้าสดลวก ที่มณฑลเสฉวน กินอาหารรสจัด ทั้งมีพริกเป็นส่วนประกอบ และพริกสดเขียวย่างเป็นจานๆ ให้กิน โดยส่วนตัวแล้วรู้จักพลูคาวมาตั้งแต่เด็ก ที่บ้านเกิดจังหวัดหนองคาย ปลูกเป็นผักสวนครัว แต่ไม่เคยเห็นขายพลูคาวเป็นผักสดในตลาด ส่วนที่ประเทศเกาหลี เห็นขึ้นใน ม.เจจู เป็นวัชพืช และที่ปลูกในกระถางในเรือนทดลอง เพื่อนชาวเกาหลีเค้าบอกว่า ที่บ้านเกิดเค้ากินเป็นผัก และก็เห็นขายในตลาดสมุนไพร โดยตัดตันยาวเป็นฟุตใส่ถุงพลาสติกขาย  

พลูคาว มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Houttuynia cordata Thunb. จัดอยู่ในวงศ์ (family) Saururaceae เป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกอายุหลายปี พบได้ทั่วไปในทวีปเอเชียตั้งแต่แถบเทือกเขาหิมาลัยไปจนถึงเวียดนาม รวมทั้งไทยและญี่ปุ่น พลูคาวจะเป็นพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันดีของทางภาคเหนือของไทย เนื่องจากลักษณะต้นที่มีกลิ่นคาวจึงมีชื่อเรียกกันในท้องถิ่นว่าผักคาวตอง นิยมนำมารับประทานเป็นผักจิ้มปลาร้าและลาบ สำหรับทางภาคกลางไม่ค่อยเป็นที่รู้จักนัก พลูคาวมีชื่อที่เรียกตามท้องถิ่นต่างๆ คือ ภาคเหนือ เช่น ผักเข้าตอง ผักคาวตอง หรือ ผักก้านตอง (แม่ฮ่องสอน) และผักคาวปลา เป็นต้น ภาคกลาง มีชื่อเรียก เช่น ผักคาวทอง และ พลูคาว เป็นต้น จัดเป็นพันธุ์ไม้ล้มลุกที่มีขนาดเล็ก ลำต้นสีเขียว สูงประมาณ 1520 ซม. ส่วนโคนที่แตะดินจะมีรากงอกออกมาตามข้อของลำต้น ออกใบเดี่ยวเรียงสลับกันไปตามข้อต้น ใบมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ ปลายแหลม โคนใบเว้าขอบใบเรียบมีสีเขียว ท้องใบจะมีลายเส้นสีม่วงอ่อน ๆ ขนาดของใบ กว้างประมาณ 3.75 - 6.25 ซม. ยาว 3.75 - 7.50 ซม. ก้านใบยาว 1.25 - 3.75 ซม. ออกดอกเป็นช่ออยู่ตรงส่วนยอดของต้นประกอบด้วยดอกเล็กๆจำนวนมากติดกันแน่นเป็นแท่งทรงกระบอกยาวประมาณ 1 นิ้ว มีสีขาวออกเหลือง และในแต่ละข้อช่อนั้นจะมีกลีบรองดอกสีขาวอยู่ 4 กลีบ แต่ละกลีบยาว 1 นิ้ว ปลายกลีบมน เมื่อดอกแก่หรือร่วงโรยไปก็จะกลายเป็นผล ซึ่งจะมีลักษณะกลมรี ปลายผลแยกออกเป็น 3 แฉก รวมตัวเรียงกันแน่นยาวเป็นรูปทรงกระบอก เป็นพันธุ์ไม้กลางแจ้งที่ชอบขึ้นในดินที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำทั่วไปสามารถขยายพันธุ์ด้วยการแยกต้นและปักชำ

สรรพคุณในตำรับยาไทย
        ต้น: ใช้รักษาโรคติดเชื้อและทางเดินหายใจ ฝีหนองในปอด ปอดบวม ปอดอักเสบ ไข้มาลาเรีย แก้บิด ขับปัสสาวะ ลดอาการบวมน้ำ นิ่ว ขับระดูขาว ริดสีดวงทวาร แก้โรคผิวหนัง ผื่นคัน ฝีฝักบัว แผลเปื่อย ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ
        ราก: ใช้เป็นยาขับปัสสาวะ ใบใช้ แก้โรคบิด โรคผิวหนัง โรคหัด ริดสีดวงทวาร หนองใน
        ใบ: ใช้รักษาโรคบิด หัด โรคผิวหนัง ริดสีดวงทวาร หนองใน ใช้ปรุงเป็นยาแก้กามโรค ทำให้แผลแห้งเร็ว แก้โรคข้อและแก้โรคผิวหนังทุกชนิดทั้งต้นมีรสเย็นและฉุน ใช้เป็นยาแก้โรคบิด โรคติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ ขับปัสสาวะ แก้บวมน้ำ แก้ไอ หลอดลมอักเสบ ฝีบวมอักเสบ ริดสีดวงทวาร หูชั้นกลางอักเสบ


ที่มา http://www.ist.cmu.ac.th/riseat/nl/2003/12/03.php


วันอาทิตย์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

นกฮูก





นกฮูกจากลูกสน

ชอบมากเลย ไปเห็นในสวนป่าของเค้า คนที่นี้ชอบเดินป่า เดินเขากันมาก ที่แบบนี้ ใครมากับทัวร์ ไม่มีทางได้เจอหรอก แบบนี้ทำเองง่ายๆ ทำติดฝาผนังบ้าน ใส่กรอบสวยๆ แต่ละตัวเมื่อทำออกมา และนำมาจัดวาง แบบไม่ซ้ำกันเลย ภาพล่างสุดเป็นสัตว์อื่นๆ ไอเดียดีมาก น่าจะทำได้เอง ลูกสนแบบนี้ บ้านเราก็สามารถหาได้

กิมจิ



กิมจิ

     ก่อนมา มีความเข้าใจว่า กิมจิ ทำจากกระหล่ำปลี (เหมือนเคยอ่านจากไหน หาหลักฐานไม่ได้แล้วละ) แต่มานี้ ไม่เคยเห็นเลย ที่โรงอาหารของหอพัก ม. เจจู มีให้กินทุกมื้อ (ทุกมื้อ ทุกคาบจริงๆ แม้แต่ตามร้านอาหาร เค้าก็เสริฟมาด้วยทุกครั้ง เค้าคงชอบกันมาก จริงๆ) มี 2 อย่าง ไม่เคยขาด ทำจากผักกาดหัว กับผักกาดขาวปลี แต่จริงๆ เค้าก็ทำมาจากหลายพืชเหมือนกัน ตามที่เพื่อนชาวเกาหลีเล่าให้ฟัง คนที่นี้ชอบซื้อพืชผัก ผลไม้ที่มีขนาดใหญ่ๆ
ผักกาดขาวปลี บรรจุกระสอบละ 3 ต้น


ผักกาดหัว หรือหัวไชท้าว ขนาดพอกับผลแฟงบ้านเรา
ในถุงคือ ต้นหอมญี่ปุ่น 
นอกจากผัก ผลไม้ แล้ว นี่ก็ใช่ย่อยๆ ปลาหมึกกล้วย ขนาดคงไม่ต่ำกว่า 20 กิโล
ขายอยู่ตลาดปลาที่พูซาน





ปลาร้าเกาหลี


ปลาร้าเกาหลี
       อย่าคิดว่าคนเกาหลีไม่กินปลาร้านะคะ ปลาร้ามีทั้งตัวใหญ่  ตัวเล็กแบบกินได้ทั้งตัว ราคากิโลละ 10,000 วอน (ประมาณ 300 บาท) มีกุ้งจ่อม และหอยดองด้วย จากประสบการณ์การที่หากินไปเรื่อยๆ พบว่า ปลาร้าแบบตัวเล็ก เข้ามีให้กินแบบเต็มตัว ในร้านหมูย่างบางร้าน  กุ้งจ่อมมีเป็นเครื่องเคียงในร้านข้าวต้มเกาหลี ร้านที่กินถือว่าราคาถูกที่สุดที่เห็นขายแถวนี้ ราคาถ้วยละ 3,900 วอน ปลาร้าที่ทำคล้ายแจ่วบองก็มี ถ้าให้ถูกปากคนไทยอย่างเรา (แบบผู้เขียนนะคะ ไม่ได้เหมารวมใคร) ต้องเติมพริก หอม กระเทียม ข่า ตะไคร้ และใบมะกรูดเข้าไปหน่อย เพราะรสชาติ นัวได้ที่ละ กินกับข้าวร้อนๆ หายคิดถึงบ้านไปหน่อยหนึ่ง

ผ้าเช็ดหน้าอัดเม็ด



ผ้าเช็ดหน้าอัดเม็ด

          ไปกินก๋วยเตี๋ยวเกาหลี เห็นเม็ดกลมๆ เสริฟมาพร้อมกิมจิ ตอนแรกก็นึกว่า เค้าแจกลูกอม เพราะร้านอาหารที่นี้ชอบแถม พร้อมมีสเปรย์ฉีดดับกลิ่นอาหารบริการ น้องคนที่พาไปกิน ผู้มีประสบการณ์ จัดการเทน้ำใส่ เด้งดึ๋งขึ้นมา เลยถึงบางอ้อ และก็เจองานวิจัยชิ้นหนึ่ง ตอนไปประชุมวิชาการ เค้าจับกาซเอทธิลีน มาอัดเม็ด และทำเป็นแคปซูล เพื่อสะดวกต่อการใช้งานในการบ่มผลไม้ ที่บรรจุกล่อง

   

การตัดชำมะเขือเทศ





การตัดชำมะเขือเทศ

มะเขือเทศสามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยการปักชำกิ่งข้าง อาจชำใน rockwool (บ้านเราเอามาใช้เป็นแผ่นกันความร้อน ซึ่งอาจจะอาบสารเคมีกันไฟ ไม่เหมาะนำมาใช้ในการเพาะกล้า หรือการชำพืช) หรือ ในฟองน้ำ หรือชำในน้ำ http://www.youtube.com/watch?v=OLnW1taUX8g แล้วนำไปปลูกอาจจะลงดินหรือปลูกในระบบไฮโดรโปนิกส์ http://www.youtube.com/watch?v=zH14uAn8fBs แต่ในเชิงการค้าขนาดใหญ่อาจจะไม่เหมาะ เพาะเมล็ดจะดีกว่า